วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วิชา พูลวรลักษณ์ บิ๊กบอส เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป คว้ารางวัล Entertainment Business Award 2007


Wednesday, 9 May 2007 09:00 -- ทั่วไป

โลดแล่นอยู่ในแวดวงธุรกิจบันเทิงมากว่าสิบปี จนประสบความสำเร็จพา บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกลายเป็นบริษัทมหาชนในวันนี้ได้ เพราะวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ล่าสุด “ วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด(มหาชน) ได้รับเลือกจาก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้เข้ารับรางวัล “Entertainment Business Award 2007” ในฐานะที่เป็นผู้ประสบความสำเร็จในการบริหารงานด้านธุรกิจบันเทิง ตลอดจน การสร้างรูปแบบการบริหารงานที่เป็นนวัตกรรมแก่อุตสาหกรรมบันเทิงไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3

“Entertainment Business Award” ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสำหรับนักธุรกิจระดับแนวหน้าของไทย ที่ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจบันเทิง ภายใต้การดูแลของคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พิจารณามอบให้แก่ผู้ที่ประสบความสำเร็จในด้านการบริหาร และผู้ที่มีคุณูปการแก่วงการธุรกิจบันเทิงไทย ซึ่งได้จัดต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2548 สำหรับในปีนี้ ผู้ที่ได้รับเลือกให้เข้ารับรางวัล คือ วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) โดยจะเข้ารับรางวัล ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุม 10201 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหลังจากรับรางวัลดังกล่าวแล้ว วิชา พูลวรลักษณ์ จะร่วมเสวนาในหัวข้อ “แนวทางและอนาคตของการบริหารการจัดการธุรกิจโรงภาพยนตร์” โดยมี ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง อัญชลีพร กุสุมภ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนาในครั้งนี้

สำหรับประวัติของ วิชา พูลวรลักษณ์ นั้น ในแวดวงของธุรกิจบันเทิงน้อยคนนักที่ไม่รู้จัก นักบริหารธุรกิจโรงภาพยนตร์ชื่อดังที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดีและเป็นที่ยอมรับในแวดวงของนักธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย ในนามผู้บริหารเครือ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” ในฐานะผู้บุกเบิกสร้างเมืองหนังขึ้นเป็นครั้งแรกของเมืองไทย ในรูปแบบ Stand Alone Complex ที่เขย่าธุรกิจโรงภาพยนตร์ในเมืองไทยให้สั่นสะเทือนมาแล้ว รวมถึงคิดออกแบบตกแต่งบรรยากาศแบบ Theme Cinema ของแต่ละสาขา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์

วิชา พูลวรลักษณ์ จัดเป็นนักบริหารที่กล้าได้ กล้าเสีย และมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปูทางให้เขาไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เห็นได้จากการที่เขาตัดสินใจนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาพลิกรูปแบบการให้บริการในโรงภาพยนตร์แบบเดิม ๆ โดยสิ้นเชิง อาทิ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีออนไลน์ที่ทันสมัยที่สุด เปิดให้บริการซื้อตั๋วหนังออนไลน์ด้วยบริการ Major Online Ticketing ผ่านบัตร Major M-Cash ด้วยวิธีง่าย ๆ สะดวกสบาย ไม่ต้องเสียเวลารอคิวนาน กับ 3 ช่องทางพิเศษ คือ ระบบ Interactive Voice Response (IVR) Movie Line 02-515-5555 และ ที่ *4999 สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อผ่านโทรศัพท์มือถือ, อินเตอร์เน็ต www.majorcineplex.com และwww.egv.com ที่สามารถเลือกที่นั่งเองและพริ้นท์ตั๋วเองจากที่บ้าน และ เครื่องจำหน่ายบัตรอัตโนมัติ (ตู้ Kiosk) พร้อมทั้งพัฒนาเป็นโรงภาพยนตร์ดิจิตอลแห่งแรกในเมืองไทย ด้วยการทุ่มงบนำเข้าเครื่องฉายภาพยนตร์ระบบดิจิตอล โปรเจคเตอร์ ที่ฉายโดยไม่ต้องใช้แผ่นฟิล์ม มาจัดฉายภาพยนตร์ให้คนไทยได้สัมผัสนวัตกรรมใหม่ของธุรกิจโรงภาพยนตร์ รวมถึง ตัดสินใจสร้างโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ จอยักษ์ 3 มิติ แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ตลอดจน สร้างเมเจอร์ โบว์ล ฮิต บูติคโบว์ลิ่งแห่งแรกของเมืองไทย ให้สัมผัสถึงความพิเศษของ ห้องแพลตตินั่มรูม ที่สามารถโยนโบว์ลิ่งและร้องคาราโอเกะได้ภายในห้องเดียว และลานไอซ์สเก็ตซับ ซีโร่

นอกจากนี้ ยังได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่กับอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของโรงภาพยนตร์เมืองไทยเมื่อเขาตัดสินใจควบรวมกิจการกับ โรงภาพยนตร์อันดับ 2 ของเมืองไทย คือ โรงภาพยนตร์ อีจีวี เข้ามาอยู่ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป หรือแม้แต่การสร้างวัฒนธรรมบันเทิงแห่งใหม่ยิ่งใหญ่ระดับโลก มูลค่าพันล้าน ระดับ 6 ดาว ในนามโรงภาพยนตร์ “พารากอน ซีนีเพล็กซ์” แบรนด์ใหม่เป็นแบรนด์ที่ 3 ให้เป็นมิติใหม่ของธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์ที่ไม่เคยมีใครได้สัมผัสมาก่อน ด้วยฝีมือการออกแบบตกแต่งโดยดีไซเนอร์ชื่อดังของโลกอย่าง Rockwell Group กลุ่มนักออกแบบผู้สร้างสรรค์ผลงานโดดเด่นอย่าง โกดัก เธียเตอร์ สถานที่จัดงานเทศกาลประกาศผลรางวัลออสการ์ ที่นี่นอกเหนือจากการมีบริการที่ยอดเยี่ยมต่างๆ แล้ว ยังมีโรงภาพยนตร์ใหญ่ที่สุด หรูหราที่สุด อย่าง “สยามภาวลัย” ประทับใจกับ “โนเกีย อัลตร้า สกรีน” โรงภาพยนตร์ระดับวีไอพี พิเศษสุดด้วยโซนที่นั่งส่วนตัวแบบ Block Seat และโรงภาพยนตร์ที่แพงที่สุด อย่าง “อีนิกม่า” โรงภาพยนตร์สไตล์คลับสุดหรูหนึ่งเดียวในโลก เอกสิทธิ์เฉพาะสมาชิกเท่านั้น ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ที่นี่แทบทั้งสิ้น และล่าสุดก็ได้สร้างนวัตกรรมศิลป์ความบันเทิงแห่งใหม่ที่เป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่เป็นปรากฎการณ์สีสันแห่งเทรนด์การใช้ชีวิตแบบใหม่ ๆ ให้กับย่านรัชดาภิเษกอีกหนึ่งทำเลทอง กับแบรนด์ใหม่ “เอสพละนาด ซีนีเพล็กซ์” แบรนด์ที่ 4 ด้วยคอนเซ็ปต์ “นวัตกรรมศิลป์ สู่โรงภาพยนตร์” หรือ “Inno-Art Cinematic” จุดเปลี่ยนที่สำคัญ...ที่ทำให้ คุณวิชา ก้าวขึ้นทำเนียบการเป็นนักธุรกิจด้านบันเทิงได้อย่างเต็มตัว เมื่อเขาสามารถนำ “บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จำกัด” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นหุ้นรายแรกและรายเดียวในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ในฐานะนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ และจัดว่ามีอิทธิพลต่อวงการบันเทิงไม่น้อย คุณวิชายอมรับเพียงแค่ว่า เขาเป็นเพียงผู้มีส่วนผลักดันอุตสาหกรรมให้เติบโตขึ้นค่อนข้างมากเท่านั้น โดยอธิบายเหตุผลว่า “การทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ ถ้าหากมีจำนวนโรงภาพยนตร์มาก หนังก็มีโอกาสทำเงินได้มากขึ้น คนดูจะมีไลฟ์สไตล์และความสะดวกสบายมากขึ้น และมองในเชิงภาพรวมอุตสาหกรรม มันคือ “โอกาส” ที่เติบโตอีกมาก ซึ่งผมเชื่อว่ามีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ดูหนัง ผมทำงานมีเป้าหมายเป็น Growth Company บริษัทที่มีการเติบโต และเมื่อบริษัทฯ เติบโตได้ อุตสาหกรรมก็เติบโต ที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นต่อไปอีก”

Source: http://www.newswit.com/news/2007-05-09/entertainment-business-award-2007/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น