วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กรณ์ ณรงค์เดช ดนตรี 'ต่อยอด' อาณาจักรเคพีเอ็น


วันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 05:00 โดย : ลมลเพ็ชร อภิสิทธิ์นิรันดร์

กรณ์ ณรงค์เดช ทายาท KPN ปรับทัพ รุก-รับ ปรับลุคเวทีประกวด KPN Awards เพื่อปั้นศิลปิน พร้อมเปิดค่ายเพลงน้องใหม่ บุกตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ธุรกิจเพลงเปรียบเสมือนกับจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่จะช่วยขยายภาพธุรกิจด้านเอ็นเตอร์เทนเมนท์ของเครือให้ครบวงจร

"กรณ์ ณรงค์เดช" ทายาทคนสุดท้องของตระกูล "ณรงค์เดช" บุตรชายคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช และ ดร.เกษม ณรงค์เดช นำความเปลี่ยนแปลงสู่ KPN มากมาย

มีทั้งการเดินเกมแบบรุก-รับ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผ่านการก่อตั้งบริษัทใหม่ KPN Awards รองรับช่องทางขยายธุรกิจเพลงไปยังต่างประเทศ

บิสิเนสโมเดลที่เขาคิดรอบด้าน ตั้งแต่ก่อตั้งค่ายเพลงเพื่อรองรับศิลปิน และผลิตศิลปินด้วยการจัดประกวดร้องเพลงชิงถ้วยพระราชทาน เวที KPN Award ที่ปรับลุคใหม่หมด เพื่อให้ได้ศิลปินที่ตอบโจทย์ใหม่ของธุรกิจ

ก่อนหน้าที่กรณ์จะรับหน้าที่ดูแล KPN Awards เขาคือ ผู้ที่รับผิดชอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มเคพีเอ็น ผ่าน บริษัท เคพีเอ็น ไลฟ์สไตล์ ซึ่งเน้นธุรกิจคอนโดมิเนียมระดับบน โครงการแรกที่เป็นผลงานคือ คอนโดมิเนียมหรู เดอะ คาโดแกน ที่สร้างประวัติเยี่ยมปิดการขายได้ภายใน 8 สัปดาห์ ส่วนโครงการถัดมา คือวินซอนเต้ มีการตอบรับที่ดีเช่นกัน

"ธุรกิจนี้ทำมาได้ราว 5 ปีแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ชอบมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะงานด้านดีไซน์ ช่วงที่ผมเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ ผมยังไม่อยากกลับบ้านเลยบอกคุณแม่ว่าขอเรียนด้านอินทีเรียร์ต่อแล้วกัน เรียนอยู่ประมาณ 6 เดือนก็จบ ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้นำมาใช้ประกอบอาชีพ"

ทั้งธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และการบริหารโครงการ KPN Awards เป็นสิ่งที่กรณ์บอกว่า "ชอบทั้งคู่" แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่เอื้อ แผนรุกด้านเรียลเอสเตทของบริษัทไม่เดินเครื่องเต็มที่ จึงเป็นจังหวะดีที่เขาจะหันมาสานต่อธุรกิจดนตรีของครอบครัว

ธุรกิจที่เขามองว่า "มีโอกาส" ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ และหมายมาดว่าจะต้องปั้นกำไรและไปสู่อินเตอร์

"ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นแบบไหน คนก็ยังชื่นชอบความบันเทิง โดยเฉพาะเพลงถือว่าเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในวิกฤติเช่นนี้จึงยังมีโอกาส ทำให้ KPN กล้าที่จะเดินหน้าขยายการลงทุน เช่น โปรเจค KPN Awards หรือค่ายเพลง"

ที่ผ่านมา KPN เป็นที่รู้จักกันดีกับโครงการประกวดร้องเพลง ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2526 โดยคุณหญิงพรทิพย์ ถือเป็นเวทีคุณภาพที่ผลิตนักร้องคุณภาพสู่วงการ ไม่ว่าจะเป็นธงชัย แมคอินไตย์, ทาทา ยัง กระทั่งเจนนิเฟอร์ คิ้ม

ทั้งยังเป็นเวทีประกวดแห่งเดียวที่ได้ถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรณ์จึงบอกว่า อยากจะสานต่อ แต่ขอเปลี่ยนคอนเซปต์เป็น "ทำธุรกิจมันต้องมีกำไร"

นี่จึงเป็นที่มาของการแยกจาก KPN Music ตั้งบริษัทใหม่ KPN Awards

และด้วยเหตุผลที่ว่า จะทำอะไรทั้งที ต้องมองไปข้างหน้าให้ไกล แผนการตลาดที่แยบยลของหนุ่มคนนี้จึงเกิดขึ้น

นั่นคือ ต่อยอดธุรกิจโดยก่อตั้งค่ายเพลงในเครือขึ้น เพื่อรองรับศิลปินและเป็นช่องทางขยายงานไปยังต่างประเทศ

"ถ้าดูกันจริงๆ แล้วบิสิเนสโมเดลไทยไม่มีอะไรที่จะแพ้เกาหลีได้เลย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ หรือหน้าตา ที่ออกจะดีกว่าคนเกาหลีด้วยซ้ำ และคนไทยที่เก่งจะได้ตามรอยรุ่นพี่ของเวทีนี้ไปอย่างทาทา ยัง" กรณ์กล่าว

ค่ายเพลงแห่งนี้มีชื่อว่า บริษัท รีโว มิวสิค ครีเอชั่น (Revol Music Creations) มี ดัง-พันกร บุณยะจินดา นั่งเก้าอี้ผู้บริหาร ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ร่วมกับพี่สาว พอฤทัย ณรงค์เดช สะใภ้รองของกลุ่มณรงค์เดช ที่นั่งแท่นเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค (KPN Music)

โดยกรณ์บอกว่า ดัง-พันกร มีประสบการณ์เป็นนักร้องในสังกัดค่ายเพลงมาก่อน จะช่วยเหลือในส่วนนี้ได้มาก เพราะเข้าใจถึงวิธีทำค่ายเพลง "ก็เป็นการช่วยๆ กันในครอบครัวครับ ใครมีไอเดียอะไรๆ ใหม่ๆ ก็เสนอได้"

ค่ายเพลงยังช่วยเติมภาพธุรกิจด้านเอ็นเตอร์เทนเมนท์ของกลุ่ม KPN ได้เป็นอย่างดี จากเวทีประกวดร้องเพลง โรงเรียนดนตรี มาจนถึงค่ายเพลง เป็นการทำงานแบบรอบด้าน อีกทั้งยังสามารถทำการตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ

ประเดิมด้วยโปรเจคใหญ่ อัลบั้ม เดอะ เฟมัส ไฟว์ (The Famous Five) ที่นำเพลงของตำนานเพลงยุค 80 ไฮดร้า (Hydra) มาเรียบเรียงดนตรีใหม่ พร้อมฝากเสียงไว้ในซิงเกิ้ลแรก ชุดแดง ในแนวคลับ ร็อค (Club Rock)

เป้าหมายของค่ายเพลงน้องใหม่ในเครือ KPN music เน้นตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบเอเชียอย่างเช่น เกาหลี ไต้หวัน หรือ ฮ่องกง โดยจะมีการจับมือกับค่ายเพลงในเกาหลีในเร็วๆ นี้ ถือว่าตรงกับคอนเซปต์ของ KPN Awards ที่ต้องการศิลปินซึ่งสามารถร้องเพลงได้ 2 ภาษาเพื่อการ "Go Inter"

"การเดินหน้าไปต่างประเทศจะทำให้ตลาดขยายใหญ่ยิ่งขึ้น แทนที่จะกระจุกตัวแค่ในประเทศ และตลาดดนตรี เรียกได้ว่า "ไร้พรมแดน" เพราะแม้จะฟังภาษาไม่เข้าใจ ก็สามารถเข้าใจทำนองเพลงได้ เราไม่กังวลประเด็นนี้นัก เพราะเน้นภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากลอยู่แล้ว"

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหลือบมองค่ายอื่น จะพบว่า เกือบทุกค่ายเพลงในเมืองไทยต่างพุ่งเป้าไปยังค่ายเพลงแดนกิมจิ เช่น แกรมมี่ ที่ส่งศิลปินอย่าง กอล์ฟ-ไมค์ ไปทำตลาดที่ประเทศเกาหลี และจับมือเป็นพันธมิตรร่วมกับค่ายเพลงที่นั่นด้วย กรณ์บอกว่าไม่กังวลนัก เพราะตลาดยังมีพื้นที่เปิดกว้าง และการแข่งขันเปรียบเสมือนการทำให้วงการเพลงพัฒนา

"เป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะเลือกรับประทานอาหารแบบเดียวกันหมด อย่างเพลงนี่ผมมองว่ายังทำตลาดได้อีกมาก คร่าวๆ ตลาดเอ็นเตอร์เทนเมนท์น่าจะโตสัก 15-20% ต่อปีนะ เรามองเห็นช่องทางหลายอย่าง ส่วนเรื่องการแข่งขันของค่ายเพลงด้วยกันเอง ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องการแข่งขัน เป็นเรื่องที่ดีเสียอีกที่จะได้ช่วยพัฒนาวงการเพลงในบ้านเรา ยิ่งมีหลายๆ เจ้ายิ่งชอบ จะได้พัฒนาตัวเราเอง"

ส่วนเหตุผลการเลือกจับมือกับเกาหลี กรณ์บอกว่า เป็นเพราะชอบวิธีการคิดและสไตล์การทำงานของคนเกาหลี ซึ่งการทำงานแต่ละครั้งเรียกได้ว่า หนักแบบสุดๆ และมีการวางกลยุทธ์ให้กับศิลปินแต่ละคน

"ศิลปินแต่ละคนกว่าจะออกเทปหรือมีอัลบั้มของตัวเองต้องฝึกฝนนานหลายปี เฉลี่ย 3-5 ปีเป็นอย่างต่ำ ทำให้เวลาที่ออกมาสู่สายตาผู้ชมมีความเป็นมืออาชีพสูงมาก

อีกอย่างที่ผมเห็นจากเขาคือ เวลาตั้งชื่อเพลง เกาหลีจะตั้งเป็นภาษาอังกฤษ แต่เนื้อร้องอาจจะเป็นภาษาของเขาเองทำให้คนจำง่าย ค้นหาในอินเทอร์เน็ตก็ง่าย เลยทำให้เพลงของเกาหลีติดหูและจำได้เร็ว"

กรณ์เองนำประเด็นเหล่านี้มาพลิกแพลงใช้กับค่ายเพลงของกลุ่ม KPN โดยบอกว่า นักร้องของค่ายจะต้องร้องเพลงหรือพูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา คือ ไทยกับอังกฤษ ขณะเดียวกันก็ต้องเทรนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี การเต้น หรือการร้อง หรือภาษาอังกฤษ เพราะต้องการเตรียมศิลปินไว้สำหรับการทำตลาดในเอเชีย ทั้งนี้ ศิลปินส่วนหนึ่งจะมาจากโครงการ KPN Awards และการเฟ้นหาศิลปินของค่ายเอง

ส่วนตัวเขาเอง ก็ต้องหันมาศึกษาด้านเพลงอย่างจริงจัง โดยทุกคืนจะต้องเข้าอินเทอร์เน็ตนั่งฟังเพลงทั้งเกาหลี ไทย หรือ แนวใหม่ๆ ใน Youtube ตลอดจนอัพเดทความคืบหน้าของแนวเพลงต่างๆ จากทั่วโลก

ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ซีอีโอ KPN Awards จะฟังเฉพาะเพลงภาษาอังกฤษ ไม่ได้ฟังเพลงภาษาไทยเลย ยิ่งเพลงเกาหลียิ่งไม่รู้จัก

Source: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20091130/88682/กรณ์-ณรงค์เดช-ดนตรี-ต่อยอด-อาณาจักรเคพีเอ็น.html