ผศ. ดร. ธีรยุส วัฒนาศุภโชค คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2547
ข่าวที่เป็น "Talk of the town" พูดกันทั่วเมืองมากๆในช่วงนี้คือ การควบรวมกิจการระหว่างยักษ์ใหญ่ในธุรกิจบันเทิง 2 แห่ง นั่นก็คือ เมเจอร์และอีจีวี ซึ่งนับว่าเป็นข่าวที่พลิกความคาดหมายมาก เนื่องจากว่าสองกลุ่มบริษัทนี้ แม้ว่าจริงๆ แล้ว จะมาจากกลุ่มธุรกิจเครือญาติที่ใกล้ชิดกันก็ตาม แต่ด้วยกระแสธุรกิจและการแข่งขันรุนแรง รวมถึงข่าวที่ออกมาเนืองๆ ในช่วงที่ผ่านมา ดูจะเป็นคู่แข่งทางการค้าที่มีความรุนแรงมากพอสมควร แต่ไปๆ มาๆ กลับมาผนวกรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก
หลายคนถามว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีประโยชน์อย่างไร จะส่งผลกระทบกับใครบ้าง แล้วการควบรวมนี้จะส่งผลดีต่อธุรกิจจริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้ จะขออนุญาตมองต่างมุมและมาหาคำตอบกัน
ขออธิบายคำว่า การควบรวม หรือ Merger คือ เครื่องมือทางการจัดการอย่างหนึ่ง โดยเป็นการควบรวมขององค์กรที่มากกว่าหนึ่งองค์กรขึ้นไป ที่มีรวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยจะมีการผสมผสานทุกอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างองค์การ ระบบงาน ฐานข้อมูล เทคโนโลยีในการดำเนินงาน รวมถึงทรัพยากรบุคคลทั้งหมด ซึ่งองค์การที่เกิดขึ้นหลังจากการควบรวมนั้น จะใช้ชื่อเดิมขององค์การใดองค์การหนึ่ง
เช่น การควบรวมของธนาคารนครหลวงไทยกับธนาคารศรีนคร ซึ่งควบกันแล้วยังใช้ชื่อธนาคารนครหลวงไทยเหมือนเดิม ส่วนธนาคารศรีนครก็หายไปและรวมตัวอยู่ในองค์การดังกล่าว (กรณีของเมเจอร์กับอีจีวีก็อยู่ในลักษณะนี้ เนื่องจากหลังจากการควบรวมแล้ว จะเหลือแต่ชื่อ เมเจอร์เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งเดียว) ส่วนอีกลักษณะหนึ่งของการควบรวม คือหลังจากการควบรวมแล้ว จะมีองค์การใหม่เกิดขึ้นมาแทน เช่น UTV ควบกับ IBC แล้วกลายเป็น UBC ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็ไม่มีบริษัท UTV หรือ IBC อีกต่อไป
สำหรับในประเทศไทย ช่วงที่ผ่านมาได้มีการนำเอาแนวคิดของการควบรวมกิจการมาใช้ในกิจการมากขึ้น คงจำได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลเองก็ได้มีการผลักดันให้สถาบันการเงินภายในประเทศทำการควบรวมกันเอง ตามแผนแม่บททางการเงินของประเทศ ซึ่งวัตถุประสงค์ก็คือต้องการสร้างความแข็งแกร่งจากการรวมตัวซึ่งกันและกันของสถาบันการเงิน ก่อนที่จะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากจากต่างประเทศ
หากจะสรุปให้เห็นภาพเบื้องต้นจะพบว่า การที่ธุรกิจนำกลยุทธ์การควบรวมกิจการมาใช้แพร่หลายนั้น ก็เพื่อรวบรวมและผสมผสานจุดแข็งขององค์กรเข้าด้วยกัน เพิ่มอำนาจและขอบเขตทางการตลาด สามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยทำให้ลดต้นทุนการดำเนินงานโดยรวม ทำให้การคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
อีกทั้งในหลายๆ กรณีการควบรวมกันก็เพื่อลดการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างคู่แข่งขันในอุตสาหกรรม รวมถึงลดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ หากมีการควบรวมกิจการข้ามชาติเกิดขึ้น
เมื่อวิเคราะห์ในกรณีของเมเจอร์และอีจีวี จะเห็นว่าผลดีที่เกิดขึ้นต่อกิจการทั้งสองหลังการควบรวมนั้น ก็คือ การแข่งขันระหว่างกันภายในอุตสาหกรรมนี้ลดลงอย่างมาก รวมถึงความสามารถทางการแข่งขันของกิจการที่ควบรวมกันสูงขึ้นมาก เนื่องจากทั้งสองกิจการนั้น ล้วนแล้วแต่มีความแข็งแกร่งในธุรกิจบันเทิง โดยเฉพาะธุรกิจโรงภาพยนตร์ เนื่องจากเป็นทั้งเบอร์หนึ่ง เบอร์สองของธุรกิจ
เมเจอร์ถือว่ามีความแข็งแกร่งด้านการตลาด ฐานลูกค้า เครือข่ายตลาด และแบรนด์เนม ส่วนอีจีวีมีความโดดเด่นมากในเรื่องของทำเลที่ตั้ง ซึ่งยึดหัวหาดอยู่ทำเลทองกลางใจเมืองมากมาย ทำให้เมเจอร์ในปัจจุบันนับว่าประสบผลสำเร็จทางการตลาดมากอยู่แล้ว กลายเป็นเสือติดปีกในธุรกิจหลังจากการควบรวม
การควบรวมนี้ยังเพิ่มอำนาจต่อรองของเมเจอร์กับลูกค้า และคู่ค้าต่างๆ เมื่อพูดถึงด้านลูกค้า หลายคนกังวลว่าจะเกิดการผูกขาดขึ้น และอาจจะมีการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยการขึ้นราคาตั๋วหนัง ซึ่งทางเมเจอร์ให้คำมั่นว่าจะไม่มีการขึ้นราคาค่าตั๋ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจต่อรองของเมเจอร์ที่มีต่อลูกค้าต้องสูงขึ้นอย่างมากแน่นอนครับ เนื่องจากวิเคราะห์จากตัวเลขแล้ว จะพบว่าหลังการควบรวมแล้ว เมเจอร์จะมีส่วนแบ่งตลาดโรงภาพยนตร์ถึงมากกว่า 70% (มีโรงภาพยนตร์รวมกันถึง 229 โรง) ทั้งยังอยู่ในทำเลที่ดี รวมถึงมีความภักดีในตราสินค้าต่อลูกค้าเป็นอย่างมาก
ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า ลูกค้าจึงมีทางเลือกน้อยลง และเปลี่ยนไปใช้บริการกับโรงภาพยนตร์ในเครืออื่นยากขึ้น ถึงจะยังไม่มีการขึ้นราคาค่าตั๋วในอนาคตอันใกล้ แต่อำนาจต่อรองของลูกค้าจะต้องลดน้อยลงแน่นอน
แต่ที่มีการกล่าวถึงกันเป็นอย่างมาก คงจะเป็นอำนาจต่อรองที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างๆ ทางผู้ผลิตภาพยนตร์ก็คงต้องพบกับแรงกดดันมากพอควรจากการควบรวมนี้ นับว่าน่าจะมีผลกระทบต่อการต่อรองในเรื่องของการกำหนดตารางการฉาย ระยะเวลาการฉาย รวมถึงต้นทุนในการเช่าภาพยนตร์ (Film Hire) อย่างแน่นอน จะเห็นได้จากการที่กลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์ออกมามีการแสดงความกังวลต่อการควบรวม เนื่องจากจะส่งผลต่อความอยู่รอดในระยะยาวเลยทีเดียว
จริงๆ แล้วหากเกิดกรณีลักษณะนี้ในต่างประเทศ คงต้องมีการพิจารณาและผ่านการตรวจสอบกันมากว่าจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากต่างประเทศจะมีกฎหมายการต่อต้านการผูกขาด (Antitrust Law) หากมีกรณีใดเข้าข่าย ทางรัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลด้วย แต่ในเมืองไทยเท่าที่ทราบยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ การควบรวมกิจการอาจถือเป็น ?สปริงบอร์ด? ที่จะนำเมเจอร์สู่ความเป็นผู้นำอาณาจักรธุรกิจบันเทิง ที่มีเครือข่ายกว้างขวางและแข็งแกร่งมาก
ทั้ง "เมเจอร์โบว์ล" ที่ติดตลาดอยู่แล้ว มาควบรวมกับ "เดอ โบว์ล บาย อีจีวี" ธุรกิจคาราโอเกะของทั้งสองกิจการก็นำมาผนวกกัน อีกทั้งเมเจอร์เองยังมีการลงทุนในผู้นำของธุรกิจฟิตเนส นั่นคือ "แคลิฟอร์เนียฟิตเนส" ก็สามารถทำความร่วมมือกับ "เยส ฟิตเนส" ของอีจีวีได้อีก เรียกว่ายิงนกทีเดียวได้ประโยชน์หลายสถาน รวมถึงการขยายตัวเข้าไปในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ร่วมกันต่อไป การควบรวมดังกล่าวนับว่าเป็นจุดเริ่มของการสยายปีกสร้างอาณาจักรธุรกิจครบวงจรได้เลย
ทุกอย่างเป็นแค่เพียงการคาดการณ์ การควบรวมกิจการนั้นมีความเสี่ยงและข้อควรระวังเช่นเดียวกัน เนื่องจากหลายๆ กรณีในต่างประเทศไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิดเสมอไป โดยเป็นปัญหาทางด้านความไม่สอดคล้องกันของวัฒนธรรมขององค์การ ทำให้การควบรวมไม่ราบรื่นอย่างที่คิดและการดำเนินการหลังการควบรวมอาจจะยังขลุกขลักอยู่มาก เพราะแต่ละองค์การก็จะมีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว หากมีความแตกต่างกันมาก การรวมตัวเป็นเนื้อเดียวก็ไม่กลืนกันเต็มที่
อีกทั้งยังต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานในกระบวนการดังกล่าว โดยทั่วไปใช้เวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีในการปรับตัวหลังการควบรวม ซึ่งในกรณีนี้ก็มีการคาดการณ์ว่าคงต้องมีการใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่งเพื่อการปรับตัว โดยเฉพาะขวัญกำลังใจของบุคลากรซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เนื่องจากหลายๆ กรณีหลังจากควบรวม มักมีการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งงานและโครงสร้างองค์การมากมาย
การลดบุคลากรในงานที่ซ้ำซ้อนอาจเกิดขึ้นด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุนในการดำเนินการอย่างมาก เหมือนกับการควบรวมของหลายๆบริษัท ดังนั้นเรื่องขวัญกำลังใจของบุคลากรต้องอาศัยเวลา และความพยายาม ในการจัดการเรื่องต่างๆ ดังกล่าวมากพอสมควรทีเดียวครับ โดยเฉพาะในช่วงหลังจากการควบรวมใหม่ๆ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาสู่บุคลากรทุกคน
ในการควบรวมกิจการยังอาจมีผลกระทบด้านรายได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของ ?Cannibalization? หรือการที่สินค้าจะแย่งลูกค้ากันเอง เนื่องจากมองในแง่ของสาขาของโรงภาพยนตร์ที่อยู่ใกล้กัน ในทำเลเดียวกัน อาจมีการแย่งลูกค้ากันได้ จึงต้องมีการปรับกลยุทธ์ด้านช่องทางจำหน่าย รวมถึงการที่เมเจอร์มีการเข้าควบกันในราคาที่แพงกว่ามูลค่าตามบัญชีของกิจการ จึงต้องมีการตัดจำหน่ายเป็นผลขาดทุนทางบัญชี เมื่อนำอีจีวีออกจากตลาดหลักทรัพย์ และภาระหนี้สินของอีจีวีก็จะต้องถูกนำมารวมด้วย ทำให้มีความเสี่ยงด้านโครงสร้างการเงินที่มีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก
สิ่งเหล่านี้ก็นับว่าทำความวิตกกังวลกับนักลงทุน ทำให้ราคาหุ้นระยะสั้นมีความผันผวนปรับตัวลดลงในช่วงแรก หลังจากมีข่าวควบกิจการขึ้นมา และจากนี้ต่อไป ยักษ์ใหญ่อย่างเมเจอร์ คงต้องถูกจับตามองจากสาธารณชนและกลุ่มที่เกี่ยวข้องมากพอสมควร ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร กระทบกับการผูกขาดในตลาดหรือไม่
การตัดสินใจอาจจะช้าลง เนื่องจากต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์และผลกระทบต่อสังคมมากพอควรครับ รวมถึงการที่ควบรวมกันเป็นองค์การที่ใหญ่มากขึ้นขนาดนี้ อาจจะมีผลข้างเคียงทางด้านของขนาดที่ใหญ่เกินไป ทำให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจ หรือมีการใช้กฎระเบียบที่มากขึ้นในการดำเนินการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์และการปรับตัวอย่างรวดเร็วในอนาคตด้วย อาจจะทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆในธุรกิจขาดความคล่องตัว ซึ่งอาจกล่าวว่า ทำให้ "ความยืดหยุ่นทางกลยุทธ์" ลดลง โดยสิ่งต่างๆเหล่านี้ทั้งหมด ก็นับว่าเป็นขั้นตอนที่เมเจอร์จะต้องฟันฝ่าต่อไป
หนทางข้างหน้ายังไม่ได้มีแค่กลีบกุหลาบโรยอยู่ แต่ต้องใช้ความพยายามอีกพอสมควร ก็ขอเอาใจช่วยให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี จัดการกับขวากหนามต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหวังว่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่นำผลดีต่อทั้งองค์การ ลูกค้า คู่ค้า และธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งหมด ซึ่งจะสามารถยกระดับอุตสาหกรรมบันเทิงไทยให้มีความแข็งแกร่งทัดเทียมตลาดโลก
Source: http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2004q2/article2004june19p1.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น